สมาพันธ์แพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย (สมพท.)
403 ซอย 7 ถ.เทศบาลนิมิตใต้ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพ 10900.
tel. 0-2589-4243  Fax. 0-2591-8092 E-mail : aorchaweewan26@gmail.com

แสดงที่มา-ไม่ใช่เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ประเทศไทย

   ดูทั้งหมด

1. ความหมายของเส้นประธาน
       เส้นประธานคือเส้นซึ่งเป็นหลักสำคัญของวิชาการนวดไทยตามที่บูรพาจารย์ได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาเชื่อกันว่ามีเส้นอยู่ในร่างกายถึง 72,000 เส้น
แต่ที่เป็นเส้นประธานแห่งเส้นทั้งปวงมีเพียง 10 เส้นเท่านั้นเส้นประธานเป็นทางเดินของลมซึ่งเป็นพลังภายในที่หล่อเลี้ยงร่างกายให้ทำงานได้ตามปกติ

2. ความสำคัญของเส้นประธาน
       เส้นประธานมีความสำคัญต่อการบำบัดรักษาโรคด้วยวิธีการนวดไทยเพราะเป็นโครงสร้างที่ใช้ในการอธิบายถึงความเป็นปกติสุขและความผิดปกติ
ของร่างกายได้โดยเฉพาะความผิดปกติซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดขัดหรือการกำเริบของลม จึงสามารถนำมาใช้ในการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของความ
ผิดปกตินั้นว่ามีความสัมพันธ์กับเส้นประธานเส้นใดรวมทั้งสามารถกำหนดวิธีการนวดรักษาที่สอดคล้องสัมพันธ์กับเส้นประธานนั้นได้อย่างมีหลักการ

3. โครงสร้างของเส้นประธาน
       ในตำราโรคนิทานคำฉันท์ 11 ของพระยาวิชยาธิบดี (กล่อม) พรรณาลักษณะของเส้นประธานว่า

                                                 "เส้นสิบท่านพรรณา    ในครรภาเป็นนิไสย
                                                  ล้อมสูญพระเมรุ์ไว้    สถิตย์ลึกสักสองนิ้ว
                                                  ล้อมเป็นจักร์ทราสูนย์    ดูไพบูลย์ไม่แพลงพลิ้ว
                                                  ดุจสายบรรทัดทิว    เป็นแนวแถวทอดเรียงกัน"

       ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเส้นประธานสิบนั้นมีศูนย์กลางออกมาจากโดยรอบสะดือลึกลงไป 2 นิ้วมือลักษณะการทอดออกจากศูนย์กลางนั้นเป็นแนวแถว
เรียงกันอย่างเป็นระเบียบนอกจากนี้ยัง พรรณาอีกว่า

                                                 "เส้นเอ็นย่อมเป็นรู    ลมเลือดชูให้ฟูฟอน
                                                  กำเริบมักรุมร้อน    ให้ศุขทุกข์ทุกราตรี"
  
         
       หากตีความตามตัวอักษรอาจทำให้เข้าใจว่าเส้นประธานน่าจะหมายถึงหลอดเลือดเพราะมีเลือดอยู่ข้างในบางคนตีความคำว่าเส้นเอ็นหมายถึง
เอ็นที่ยึดโยงกล้ามเนื้อกับกระดูกหรือเอ็นที่ยึดโยงอยู่ในข้อต่อต่างๆ เพราะในตำราเล่มนี้ (ตำราโรคนิทานคำฉันท์11) ท่านจัดเส้นประธานให้อยู่
ในเรื่องเอ็น (นหารู) ซึ่งเป็นปถวีธาตุหรือธาตุดิน แต่ถ้าพิจารณาโดยรอบคอบและทดลองปฏิบัติตามตำราแล้วเส้นประธานสิบไม่น่าจะหมายถึง
หลอดเลือดหรือเอ็นอย่างที่เข้าใจกันเพราะเมื่อเปรียบเทียบกับความรู้ทางกายวิภาคสมัยใหม่พบว่าทางเดินของเส้นประธานสิบที่จะกล่าวถึงต่อไปนั้น
ไม่สอดคล้องสัมพันธ์กับทางเดินของหลอดเลือดหรือเส้นเอ็นอย่างตรงตัวเสียทีเดียวและจากการศึกษาโดยการกดจุดเริ่มต้นของเส้นประธาน
บริเวณสะดือแล้วพบว่าเกิดความรู้สึกแล่นไปได้ตามทิศทางที่ระบุไว้จึงเป็นไปได้ว่าทางเดินของเส้นประธานก็คือทิศทางการแล่นของกระแสความรู้สึก
ที่เกิดจากการกดจุดต่างๆ นั่นเองอาจกล่าวได้ว่าลักษณะโครงสร้างทางกายภาพของเส้นประธานยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นโครงสร้างแบบใด
และจากการศึกษาโครงสร้างอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายที่สามารถเกิดกระแสความรู้สึกแล่นภายในร่างกายพบว่าโครงสร้างภายในร่างกายที่สามารถ
ทำให้เกิดความรู้สึกแล่นได้นั้นอาจเป็นเส้นประสาทเยื่อหุ้มกระดูกพังผืดเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อหรือผนังหลอดเลือดซึ่งเป็นโครงสร้างที่มีปลายประสาทมาเลี้ยง
      การนวดเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองทางสรีรวิทยาเพื่อเกิดผลในการรักษาจึงอาจเป็นการนวดที่โครงสร้างใดโครงสร้างหนึ่งหรือหลาย
โครงสร้างผสานกันโดยประสานเชื่อมต่อผ่านทางปลายประสาทดังกล่าว

4. องค์ประกอบที่สัมพันธ์กับเส้นประธาน
       องค์ประกอบตามทฤษฎีเส้นประธานมี 3 องค์ประกอบที่สำคัญคือ
       1) เส้นซึ่งมีเส้นประธานและเส้นแขนงต่างๆ มีทางเดินของเส้นที่แน่นอน
       2) ลมเป็นพลังซึ่งแล่นไปตามเส้นหากลมแล่นไม่ปกติมีการติดขัดย่อมก่อโทษทำให้เกิดความเจ็บป่วยได้
       3) จุดเป็นตำแหน่งบนร่างกายที่มีความสัมพันธ์กับเส้นเมื่อกดหรือกระตุ้นถูกจุดจะเกิดกระแสความรู้สึกแล่นของลมไปตาม
           แนวเส้นได้

( ติดตามในตอนที่ 2 )

ตอนที่ 1
เส้นประธานสิบ








                                                                  










  
2016-2017 Your Web Site Corporation. All rights reserved.

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากหนังสือการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเส้นสิบ
พิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อกันยายน 2555